วันอังคารที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2554

ชื่อโรงเรียนวัด


วัด' นอกจากเป็นที่พึ่งทางจิตใจยังเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ของชาวไทย นับตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ทั้งมีบทบาทสำคัญในการมอบความรู้ ขัดเกลาด้านจริยธรรมแก่ผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาวิชาความรู้
       
       สังเกตได้ว่า 'พระสงฆ์' นั้นเปรียบดั่ง 'ครู' เฉกเช่นเดียวกัน 'วัด' ก็เปรียบดั่ง 'โรงเรียน'
      
       วัฒนธรรมการศึกษาไทยนั้นเริ่มจากวัด และวิถีที่ผูกพันอันยาวนานของทั้งสองสถาบัน ระหว่างวัดกับโรงเรียน ก็ยากที่จะแยกออกจากกัน
      
       สถาบันการศึกษาเป็นที่ที่ผลิตบุคลากรชั้นเลิศหลากหลายสาขาชีพ สำหรับในอดีต คนไทยเรียนรู้ทุกอย่างจากวัด และวัดก็ถือเป็นศูนย์กลางของชุมชน เป็นโทรโข่งกระจายข่าวสารให้คนในชุมชนได้รับรู้
      
       แต่ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปคล้ายเป็นช่องทางแยกความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างวัดและโรงเรียน วัฒนธรรมตะวันตกที่เข้ามาในสังคมไทยเริ่มครอบงำให้ชาวไทยมองข้ามวัฒนธรรมดั้งเดิมของ แนวคิดหัวก้าวหน้าจากคนบางกลุ่มเข้ามามีบทบาทในแผนการศึกษาของชาติ
      
       ปัจจุบันได้มีกรณีตัดคำว่า ‘วัด' ออกจากหน้าชื่อโรงเรียนที่มีมาแต่เดิม ซึ่งเป็นเรื่องฮิตในสารบบการศึกษาของไทย เพราะคิดว่า ‘วัด’ เป็นเป็นเรื่องล้าหลัง
      
       จนเกิดกรณีโรงเรียนวัดหลายแห่ง ตัดคำว่า 'วัด' ออกจากชื่อโรงเรียน เป็นเหตุให้มีกระแสวิพากษ์ว่าเป็นการลดบทบาทของวัด และเป็นช่องทางให้บุคคลที่หวังบ่อนทำลายสถาบันของชาติ และสถาบันพระพุทธศาสนา
      
       ทั้งนี้เมื่อผ่านกระบวนการพิจารณาจึงได้ข้อสรุปจากการประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) มีมติว่าห้ามตัดคำว่าวัดออกจากชื่อของโรงเรียน ส่วนโรงเรียนใดดำเนินการตัดชื่อวัดออกไปแล้วก็ให้นำกลับมาใส่นำหน้าชื่อโรงเรียนเช่นเดิม


      
       ปฏิรูปการศึกษาครั้งแรก ‘วัด’ ยังเป็นศูนย์กลาง
       
       ราวรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้ปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ และจัดตั้งโรงเรียนสำหรับประชาชนแห่งแรก โรงเรียนวัดมหรรณพาราม ที่ตั้งอยู่ในที่ธรณีสงฆ์
      
       หากย้อนกลับไปดูถึงประวัติศาสตร์ พระองค์มีพระราชดำริว่าอยากให้การศึกษาจัดขึ้นที่วัด เพราะมองว่าเกียรติภูมิของวัดและโรงเรียนควรจะไปด้วยกัน
       รศ. ดร. สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้อนมองวัฒนธรรมการศึกษาของไทย เล่าถึงแหล่งประสานวิชาความรู้ครั้งอดีต ว่า
      
        “สภาพประวัติศาสตร์ของสังคมไทย เริ่มตั้งแต่สมัยสุโขทัยมาจวบจนรัตนโกสินทร์ วัดจัดเป็นศูนย์กลางของการศึกษา ในเชิงวัฒนธรรมในเรื่องอาชีพ รายได้ ในอดีตวัดมีหน้าที่หลักสามประการ คือ หนึ่ง เรื่องการอ่านหนังสือ อ่านออกเขียนได้ สอง สร้างอาชีพ เป็นศูนย์รวมด้านอาชีพ และสาม สั่งสอนให้เป็นคนดี เป็นพุทธมามะกะ ซึ่งประเทศไทยได้ใช้ศาสนาเป็นศูนย์กลางการศึกษาเพื่อต่อวัตถุประสงค์นี่มาโดยตลอด”
      
       สังคมการศึกษาถูกปฏิรูปครั้งใหญ่ ปรับเปลี่ยนจากวัดเข้าสู่โรงเรียนในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยมุ่งยกระดับความรู้ชาวไทยให้เติบโตควบคู่สังคมโลก แต่ด้านบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ก็กลืนการศึกษาในรูปแบบเดิม
      
       “พอมาถึงสมัยรัชการที่ 5 ประเทศไทยก็ต้องปรับสู่ยุคล่าอาณานิคม ปรับสู่การศึกษาในเชิงตะวันตก ทั้งระบบหลักสูตร การเรียนรู้ เครื่องแต่งกาย เพราะฉะนั้นโรงเรียนในความหมายของวัดก็เริ่มแยกออกไป ในเบื้องต้นโรงเรียนก็ได้เข้ามาทำหน้าที่แทนวัด และเพื่อตอบโจทย์ในเรื่องของการหลุดพ้นทางด้านเป็นประเทศอาณานิคมจาก มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่หนึ่งจนถึงฉบับปัจจุบัน การศึกษามันก็ไปตอบระบบเศรษฐกิจ ตอบระบบตลาด แรงงาน การเมือง ฯลฯ แต่ตัวศาสนากลับเริ่มถอยห่างการศึกษาออกไป”
      
       ปัจจุบันวัดมีไว้เชิงสัญลักษณ์ การเรียนรู้จากวัดสามารถทำได้น้อยลง เพราะมีเรื่องพิธีกรรมเข้ามาเยอะ ด้านการเผยแผ่ และเข้าถึงคนรุ่นใหม่ก็น้อยลงตามลำดับ ในปัจจุบันโรงเรียนตั้งอยู่บริเวณวัดโดยกายภาพ แต่ในเรื่องหลักสูตร และวัฒนธรรมนั้นถูกแยกออก ไม่บูรณาการเชื่อมโยงกัน รศ. ดร. สมพงษ์ แสดงทัศนะว่า
      
       “สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นคือทางด้านการศึกษาของวัด มันมีการปรับโครงสร้างเชิงระบบ และทางการการเรียนรู้มันน้อย เพราะฉะนั้นวัดจึงมีไว้เชิงสัญลักษณ์ และทำหน้าที่แคบ คำว่า วัด ที่หลุดออกจาก โรงเรียน มันเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ เพราะว่าผู้บริหารกับครูปฏิเสธศาสนาอย่างชัดเจน เพราะต้องการพาโรงเรียนไปสู่นวัตกรรมโลกยุคใหม่ วัดก็เสมือนเป็นคำที่คร่ำครึ โบราณ ล้าสมัย จึงมีความพยายามที่จะเอาวัดออกไป”
      
       เกียรติภูมิของวัดกับชื่อโรงเรียน
      
       ด้าน ดร.อำนาจ บัวศิริ ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม เล่าถึงที่ไปที่มาของมติมหาเถรสมาคม เรื่องชื่อวัดในชื่อโรงเรียนว่า มาจากคณะอนุกรรมาธิการกิจการพระพุทธศาสนา สภาผู้แทนราษฎร ได้ยื่นหนังสือมาที่มหาเถรฯ เพื่อให้รับทราบในเรื่องนี้ เช่นโรงเรียนวัดชิโนรส ก็ตัดชื่อเหลือเพียง โรงเรียนชิโนรส
      
       ซึ่งเท่ากับเป็นการทำลายเกียรติภูมิของวัดที่ดูแลและให้การอุปถัมภ์โรงเรียนมา เพราะต้องยอมรับว่าโรงเรียนเกือบทั่วประเทศไทย ก็มีที่มาจากวัด สังเกตได้จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งพบว่า มีโรงเรียนนำหน้าชื่อด้วยวัดมากกว่า 200,000 โรง
      
       "เดิมก็มีอยู่วัดนำหน้าทั้งนั้น แต่พออยู่ไปอยู่มาก็ตัดคำว่าวัดออก ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา เช่น ใส่ชื่อวัดแล้วมันเชย ดูแล้วไม่เหมาะสม แต่พอสืบไปสมัยเดิมๆ ก็พบว่าวัดยกที่ให้สร้างโรงเรียน เพื่อสาธารณประโยชน์ เพื่อการศึกษา รวมทั้งอุปถัมภ์ในเรื่องงบประมาณ หาเงินหาทองมาช่วย ซึ่งหากย้อนกลับไปสมัยเก่าๆ ที่ดินก็ไม่มีเอกสารสิทธิ บางโรงเรียนก็เลยเอาไปออกโฉนดเป็นที่ราชพัสดุ มันก็เลยเป็นเรื่องเป็นราว
      
        “แต่สมัยนี้ไม่มีแล้ว เพราะมีการออกเอกสารสิทธิชัดเจน จากปัญหาทั้งหมดนี้ บางคนก็เลยมาในแง่เกียรติภูมิว่า วัดก็เคยช่วยเหลือโรงเรียน อย่างบางแห่งก็ไม่เคยจ่ายค่าเช่าเลย เพราะถือว่าอยู่ด้วยกันมาตลอด แต่ทำไมต้องมาตัดชื่อวัดออก เพราะฉะนั้นจึงอยากให้คนที่รับผิดชอบตรงนี้คิดถึงเรื่องนี้ด้วย"
      
       อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ออกมานี้ ก็ไม่ถือเป็นการบังคับว่าทุกแห่งต้องปฏิบัติตาม เพราะบางแห่งก็มีปัญหาจริงๆ เช่น โรงเรียนที่ไม่ได้อยู่ตั้งแต่ต้น หรือบางโรงก็มีทั้งโรงเรียนประถมศึกษาและโรงเรียนมัธยมศึกษา ซึ่งสังกัดอยู่คนละหน่วยงาน ดังนั้นก็เลยตัดคำว่าวัดออกจากโรงเรียนมัธยมฯ เพื่อให้แบ่งแยกกันเด็ดขาด ซึ่งตรงนี้ก็ถือเป็นเหตุผลที่รับได้ และทางมหาเถรสมาคมเองก็ไม่มีปัญหา
      
       ทั้งนี้ ดร.อำนาจ ยังกล่าวทิ้งท้ายว่าการเรียนการสอนของโรงเรียนก็ไม่ควรจะมุ่งเน้นแต่ทางด้านวิชาการเท่านั้น ควรจะมีเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมให้เด็กด้วย
      
       เด็กไทยไม่แคร์ มีวัดนำหน้าหรือไม่มี
       
       ครั้นมาสอบถาม ธีรพัฒน์ ลิ้มโสภิตพรรณ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเทพศิรินทร์ เขาให้ความคิดเห็นว่า
      
       “ผมเฉยๆ เลยนะครับว่าจะมีคำว่าวัดอยู่หน้าชื่อหรือไม่ เพราะโรงเรียนของเรา ก็เป็นโรงเรียนของเราอยู่ดี ไม่ได้รู้สึกว่าแตกต่างกันอย่างไร จะบอกว่ามันทำให้ใครรู้สึกภูมิใจขึ้นหรือสูญเสียเอกลักษณ์อะไรไปหรือไม่ ผมเชื่อว่าคนที่เรียนในโรงเรียนอื่นๆ ก็รู้สึกเหมือนกัน อย่างพวกโรงเรียนคริสต์ ยังมีคำว่าคอนแวนต์ ที่แปลได้ว่าเป็นโรงเรียนวัดเหมือนกัน”
      
       ฝ่ายอาจารย์พิเศษโรงเรียนมัธยมวัดสุธิวราราม ก็ให้ความเห็นในทำนองที่ว่า การตัดคำว่าวัดหน้าชื่อโรงเรียนนั้น มันเป็นเรื่องของวิจารณญาณส่วนบุคคลที่อาจคิดต่างกันได้ การเปลี่ยนเป็นชื่อไหนอย่างไรก็ไม่มีอะไรเปลี่ยน
      
       สุดท้ายได้ไปถามความเห็นของพระรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นวัดหลวงขนาดใหญ่ และมีพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นโรงเรียนที่มีคำว่าวัดนำหน้าชื่อ
      
       “ความเห็นของอาตมาเอาไปเป็นตัวแทนพระทั้งหมดคงไม่ได้ แต่สำหรับอาตมาเองแล้ว อาตมาไม่ได้ใส่ใจกับเรื่องนี้นัก เพราะชื่อมันเป็นเรื่องที่เรากำหนดขึ้นเอง เช่น ไม่ว่าเราจะเรียกของสิ่งนี้ (ชี้ไปที่กระดาษชำระ) ว่าทิชชู่ หรือกระดาษชำระ สุดท้ายมันก็ทำหน้าที่ของมันอย่างเดิม”
      
       ………
      
       เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงมุมมองก็เปลี่ยนตาม แต่สิ่งที่หนึ่งที่สถาบันการศึกษาจะตัดออกเสียไม่ได้ นั้นก็คือ 'จริยธรรมและคุณธรรม' ที่ต้องปลูกฝังตั้งแต่ครั้งยังเยาว์ ซึ่งวัดจะเป็นจุดสำคัญในการกล่อมเกลาจิตใจทั้งทางตรงและทางอ้อม แม้โรงเรียนจะมีชื่อวัดนำหน้าหรือไม่ก็ตาม...


ขอบคุณ : manager.co.th