วันพุธที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ผลการเปลี่ยนแปลง 14 ตุลาคม 2516

เมื่อจอมพลถนอม กิตติขจร กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งนายสัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และองคมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการเริ่มต้นรัฐบาลใหม่ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการร่างรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์แบบ สิ่งที่น่าคิดคือ ทำไมกลุ่มถนอม – ประภาส – ณรงค์ จึงหลุดจากอำนาจ คำตอบก็คงจะอยู่ที่ตัวแปรต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้ว และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จอมพลประภาส จารุเสถียร ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารบกได้สูญเสียตำแหน่งแก่ พลเอกกฤษณ์ สีวะรา ซึ่งทำให้คิดว่าเป็นการถ่ายดุลอำนาจไปยังกลุ่มผู้อุปถัมภ์อื่น นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตว่า ระหว่างการประท้วงนั้น ได้มีการร่วมมือช่วยเหลือทางการเงิน เพื่อซื้ออาหารให้แก่นักศึกษา โดยข้อนี้ จึงกล่าวได้ว่าการล้มรัฐบาลกลุ่มอำนาจของถนอม – ประภาส – ณรงค์ มีลักษณะแนวร่วมอย่างกว้างขวางคือ ปัญญาชนและมวลชน ผนึกกำลังกับกลุ่มพลังทางการเมืองโดยเฉพาะกลุ่มผู้อุปถัมภ์ที่เป็นคู่แข่งของกลุ่ม ถนอม – ประภาส – ณรงค์ รวมทั้งกลุ่มจารีตนิยมได้ล้มรัฐบาลทหารกลุ่มถนอม – ประภาส – ณรงค์

ผลที่เกิดขึ้นคือ 
(1) การล้มรัฐบาลทหารไทย โดยการประท้วงของประชาชนในขนาดที่ไม่เคยมีมา ก่อนในประวัติศาสตร์ยุคใหม่
(2) การทำลายกลุ่มอุปถัมภ์สำคัญกลุ่มหนึ่ง ซึ่งผูกขาดอำนาจมานาน และมีท่าที จะสืบทอดอำนาจต่อไป
(3) การเปิดโอกาสให้เกิดการปกครองระบอบประชาธิปไตย
(4) การกลับมามีบทบาทและอำนาจของกลุ่มจารีตนิยมมากขึ้น
(5) การเปลี่ยนแปลงและสรรหาตัวผู้อุปถัมภ์ใหม่ กล่าวคือ ผู้อยู่ใต้ความอุปถัมภ์ ของกลุ่มถนอม – ประภาส – ณรงค์ ต้องวิ่งหาผู้อุปถัมภ์
(6) ทหารและตำรวจเสียความเชื่อถือลงไปมาก ในขณะเดียวกันกลุ่มนิสิต นักศึกษา อาจารย์มหาวิทยาลัยมีบทบาทในการแสดงออกทางการเมืองมากขึ้น

การล้มรัฐบาลกลุ่มถนอม – ประภาส – ณรงค์ ซึ่งได้รับสมญานามว่า “สามทรราชย์” นั้น เบื้องแรกดูจะเป็นจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยอันสดสวยงดงาม ทุกอย่างดูจะดำเนินไปสู่ในแง่ดีของอนาคตของประเทศชาติ และความหวังเรื่องการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเต็มไปด้วยสิทธิ เสรีและนี้เป็นบรรยากาศที่ปรากฏอยู่ทั่วไป แต่เพียงชั่วระยะเวลาไม่นานความรู้สึกในแง่ดีต่าง ๆ ก็เริ่มเจือจางไปด้วยความไม่แน่ใจ การล้มอำนาจเผด็จการเป็นเรื่องหนึ่ง แต่การสร้างประชาธิปไตยเป็นอีกเรื่องหนึ่งและกระบวนการทั้งสองไม่จำเป็นต้องไปด้วยกัน หรือกระบวนการอันหลังไม่จำต้องตามมาโดยอัตโนมัติ