ขอนแก่นเร่งแก้ "พยาธิใบไม้ " อีสานป่วยมะเร็งตับ-ท่อน้ำดีสูงเหตุกินปลาดิบ
ขอนแก่น - น.พ.พิเชฏฐ ลีละพันธ์เมธา ผอ.สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 7 ขอนแก่น เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพ เขต 7 ขอนแก่น หรือ อปสข. เขต 7 ขอนแก่นอนุมัติงบประมาณ 10 ล้านบาท เพื่อการดำเนินงานตาม "โครงการพัฒนาระบบการจัดการดูแลรักษาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีครบวงจร จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด" โดยเริ่มต้นโครงการในปี 2553 และทำเต็มพื้นที่ในปี 2556 โครงการนี้เป็นโครงการที่ทำร่วมมือกันระหว่าง สำนักงานสาธารณสุขทั้ง 4 จังหวัด สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดขอนแก่น คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
โรคพยาธิใบไม้ตับ เป็นโรคที่คนอีสานคุ้นเคยกันมานาน และมีการรณรงค์ ลด ละ เลิก กินปลาดิบ กันมาหลายสิบปี แต่เพราะคนอีสานหากินกับท้องนาและลำน้ำ อาหารการกินหลักจึงหนีไม่พ้นปลา ซึ่งมีการนำมาปรุงเป็นอาหารแซบหลายเมนู เช่น ก้อย ลาบ หรือจะเอาไปแปรรูปเป็นปลาร้า ปลาจ่อม ปลาส้ม เพื่อเก็บไว้กินนานๆ เมื่อนำมารับประทานหากไม่ผ่านการปรุงให้สุก โอกาสในการได้รับไข่พยาธิใบไม้ตับก็มากตามไปด้วย เมื่อไข่พยาธิจากปลาดิบถูกกินเข้าไป ไข่พยาธิจะเคลื่อนตัวจากในท้องไปอยู่ในท่อน้ำดี เติบโตเป็นตัวแก่ในท่อน้ำดี สาเหตุหลักของมะเร็งตับและท่อน้ำดี
ทั้งนี้ มะเร็งตับและท่อน้ำดี ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วประเทศ ปีละประมาณ 28,000 คน หรือเฉลี่ยวันละ 76 คน เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาด้วยการผ่าตัดประมาณ 80,000 บาทต่อราย หรือ 22,400 ล้านบาทต่อปี จากข้อมูลจำนวนผู้ป่วยมะเร็งใหม่ของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ พบว่า มะเร็งที่พบมากที่สุดคือ มะเร็งตับและท่อน้ำดี และแต่ละปีก็มีแนวโน้มที่จะพบมากขึ้นเรื่อยๆ อัตราความชุกของโรคพยาธิใบไม้ตับในไทยจะพบมากในภาคเหนือ และภาคอีสาน
โครงการนี้มีเป้าหมาย คือทำให้มีหมู่บ้าน และโรงเรียนปลอดพยาธิใบไม้ตับ ผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดี ระยะแรกได้รับการวินิจฉัยและรักษา และมีการคำนวณถึงความคุ้มค่าของการคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดีให้ชุมชน และการสูญเสียทางสุขภาพของผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดี รวมไปถึงมีการพัฒนาทักษะของบุคลากรและหน่วยงานในพื้นที่ที่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ทีมงานจะออกจากพื้นที่แล้ว
ขอบคุณ : ข่าวสด