วันเสาร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

แก้วิกฤตช้างป่า"อ่างฤาไน"


"ป่าเขาอ่างฤาไน" เป็นป่าอุดมสมบูรณ์ผืนสุดท้ายของภาคตะวันออก ครอบ คลุมพื้นที่ 5 จังหวัด คือ สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และ ฉะเชิงเทรา
แต่ระยะที่ผ่านมา ป่าเขาอ่างฤาไนเริ่มประสบปัญหา สัตว์ป่าเริ่มขาดแคลนน้ำ และอาหาร โดยเฉพาะช้างป่า ที่อาศัยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนในพื้นที่ฉะเชิงเทรา ที่พากันออกไปหาอาหารในพื้นที่เกษตรของชาวบ้าน ทั้งไร่มัน นาข้าว จนกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า
ล่าสุด นางสุมิตรา ศรีสมบัติ รองผวจ. ฉะเชิงเทรา เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหามาตรการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยยึดพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ว่า "ช้างควรอยู่ในป่า เพียงแต่ต้องทำให้ป่านั้นมีอาหารเพียงพอ การปฏิบัติคือ ให้ไปสร้างอาหารในป่าเป็นแปลงเล็กๆ และกระจาย กรณีช้างป่าออกมาที่ชายป่าต้องให้ความปลอดภัยแก่ช้างบ้าง" เป็นแนวปฏิบัติ
แผนการระยะสั้น ที่ประชุมเสนอให้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ทั้งป่าไม้ ทหารพราน อปท. อปพร. ทำงานร่วมกับชาวบ้านเฝ้าระวังตามจุดต่างๆ ที่ช้างจะออกจากป่า โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของช้างป่าและคนเป็นหลัก




ส่วนแผนระยะยาว จะขุดคูกันช้างล้อมรอบแนวเขตป่า ระยะทางทั้งหมด 400 ก.ม. ครึ่งหนึ่งอยู่ในฉะเชิงเทรา ซึ่งขณะนี้ดำเนินการไปแล้วบางส่วน ภายใต้เงินสนับสนุนจากกองทุนโรงไฟฟ้า 2 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังต้องสร้างแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร โดยเสนอของบประมาณจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยบัญชาการทหารพัฒนาภาค 1 กระทรวงกลาโหม คาดว่าจะสำเร็จเป็นรูปธรรมได้ใน 1-2 ปี
ด้าน นายบุญชู อยู่ภู่ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เผยว่า ตั้งแต่ ต.ค.52-ก.ย.53 เกิดเหตุช้างป่าทำลายพืชผลทางการเกษตร 114 ครั้ง ขณะที่ช่วงปี"39-51 มีช้างป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไนตายทั้งสิ้น 20 ตัว จำแนกเป็นเกิดจากปัญหาบุกรุกพื้นที่เกษตร 9 ตัว จากเหตุธรรมชาติ 5 ตัว อุบัติเหตุรถชน 3 ตัว จากการล่าเอางา 1 ตัว และตายโดยไม่ทราบสาเหตุ 2 ตัว เท่านี้ก็นับว่าเป็นเรื่องวิกฤตแล้ว
นายไสว วังหงษา หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่า กล่าวว่า ข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน ปี 2542 พบว่า มีพื้นที่ป่าที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของช้างป่าเพียง 36.61 เปอร์เซ็นต์ สามารถรองรับช้างป่าได้ 160 ตัวเท่านั้น ในขณะที่ปัจจุบันมีช้างป่าในพื้นที่ถึง 240 ตัว และในจำนวนนี้ 70-80 ตัว หากินป้วนเปี้ยนอยู่ตามแนวชายป่า





หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่ายังเสนอว่า การแก้ปัญหาควรดำเนินการใน 3 พื้นที่ คือ ในพื้นที่ป่า พื้นที่เกษตร และพื้นที่ตามแนวชายเขต โดยควรดำเนินการไปพร้อมกันใน 4 ลักษณะ คือ กรณีที่ช้างป่าบุกรุกทำความเสียหายต่อพืชเกษตร ควรประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านในรูปของเงินชดเชย
ประการที่สอง เพิ่มศักยภาพของพื้นที่ให้รองรับประชากรช้างได้มากขึ้น ด้วยการจัดการทุ่งหญ้า เสริมแหล่งน้ำ เพิ่มดินโป่ง ตัดทางขยายระยะสวนป่า และกำจัดไม้ต่างถิ่นให้หมดไป โดยใช้ "กลยุทธ์หนังช้าง" คือทำให้พื้นที่สามารถรองรับประชากรช้างป่าได้มากขึ้นกว่าปกติ เหมือนหนังช้างที่สามารถเก็บน้ำได้มากกว่าหนังของสัตว์ชนิดอื่น
นอกจากนั้นต้องทำแนวป้องกันช้างป่าออกนอกพื้นที่ ด้วยการขุดคูที่มีลักษณะชันด้านที่ติดกับพื้นที่เกษตร และลาดเอียงในด้านที่ติดป่า หรือการสร้างรั้วที่ด้านล่างเปิดโล่ง และการใช้รั้วไฟฟ้าแรงดันสูงกระแสต่ำ
ที่สำคัญคือ ควรมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเกษตร โดยอาจเลือกปลูกพืชที่ไม่เป็นอาหารของช้าง เช่น พริก ชา หรือไม้เศรษฐกิจ เช่น ยูคา ลิปตัส ทั้งนี้ การปลูกพืชที่ให้ผลผลิตในช่วงที่มีรายงานว่า ช้างไม่ออกนอกพื้นที่ หรือไม่ปลูกพืชซ้ำซากในพื้นที่เดียวกัน ก็ช่วยลดปัญหาช้างป่าทำลายพืชเกษตรได้ระดับหนึ่ง นอกจากนี้ ควรจัดทำสิ่งกีดขวางถาวรรอบแหล่งน้ำที่เปิดโล่ง เพื่อไม่ให้ช้างป่ามาใช้แหล่งน้ำที่สร้างไว้เพื่อการเกษตร
การรักษาป่าผืนสุดท้ายของภาคตะวันออกให้อุดมสมบูรณ์ต่อไป ไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องช่วยกัน เพื่อสนองพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ว่า "พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า"
ขอบคุณ : หนังสือพิมพ์ข่าวสด