วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

กรุงเทพฯ เปลี่ยนได้



เมื่อคนที่อยู่กรุงเทพฯ ไม่ใช่คนกรุงเทพฯ สาธารณูปโภคที่ใช้ไม่ใช่ของคนกรุงเทพฯ แต่ปัญหามากมายรุมเร้าอยู่ในเมืองใหญ่เมืองนี้ แล้วอย่างนี้ชีวิตในกรุงเทพฯ จะเปลี่ยนไปสู่สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นได้ไหม หากเริ่มต้นคิดถึงปัญหาอาจจะทำให้หลายคนท้อก่อนเห็นทางแก้ แต่การหาทางออกด้วยนวัตกรรมสังคมอาจจะทำให้เกิดความรู้สึกที่ว่า “กรุงเทพฯ เปลี่ยนได้...ไม่ยากเลย”






“ตอนนี้คนกรุงเทพฯ มีความขัดแย้งในใจตัวเองทุกคนเลย ใจหนึ่งก็โหยหาชีวิตหรูหราสะดวกสบาย ขณะเดียวกันก็โหยหาชีวิตที่มันเป็นธรรมชาติ ความขัดแย้งตัวนี้นี่แหละที่จะทำให้เกิด Social change หรือ Social Innovation” ดร.เมธาคุณ ตุงคะสมิต นักวิชาการและนักวางกลยุทธ์ด้านสิ่งแวดล้อม บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (วิสาหกิจของ กทม.) อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้เชี่ยวชาญประจำและคณะทำงานพัฒนาศักยภาพด้านสิ่งแวดล้อมและผังเมือง กรุงเทพมหานคร ฉายภาพคนกรุงเทพฯ ที่หลายคนคงพยักหน้าตาม

ดร.เมธาคุณเป็นคนทำงานด้านสิ่งแวด ล้อมรุ่นใหม่ที่เข้าไปมีบทบาทต่อการขับเคลื่อน กรุงเทพมหานครผ่านการวางนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและผังเมือง ขณะเดียวกันงานประจำจากการเป็นอาจารย์ด้านนวัตกรรมสังคมที่ทำอยู่นั้น ทำให้เขาเลือกใช้แนวคิดบนหลักการที่ไม่ซับซ้อนเพื่อเป็น Change agent ที่ค่อยๆ เปลี่ยนกรุงเทพฯ สู่สิ่งแวดล้อมที่ดีกว่าเดิมในบริบทของสังคมความขัดแย้งในใจก็ไม่ต่างอะไรกับความขัดแย้งเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วไป ที่ทำให้เกิดผลทั้งด้านบวกด้านลบ ซึ่งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเหล่านี้มักจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ด้านใดด้านหนึ่งเสมอ และเมื่อนำมารวมกับนิยามในเชิงนวัตกรรมสังคม หรือการดำเนินงานภายใต้สภาพและบริบทที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบันให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีกลยุทธ์เพื่อนำไปสู่ทางออกในระดับที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งอุดมการณ์หรือการบังคับด้วยกฎหมายการชั่งน้ำหนักความขัดแย้งก็คือกระบวนการของการเปลี่ยนแปลงนั่นเอง




การมองการแก้ปัญหาแบบนวัตกรรมสังคมเป็นแนวทางที่ ดร.เมธาคุณหยิบมาใช้ในการวางกลยุทธ์เปลี่ยนสังคม โดยนำมาใช้ร่วมกับทฤษฎี Stakeholder หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งนิยมใช้กันในวงการธุรกิจต่างๆ มาเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการแก้ปัญหาของสังคม โดยจะต้องให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ที่ถูกต้อง เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้เกิดผลดีต่อทุกฝ่ายโดยสมัครใจ

ทฤษฎีนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยปริญญาเอกของเขาเมื่อปี 2546 ซึ่งเลือกทำกรณีศึกษาเกี่ยวกับขยะที่จังหวัดภูเก็ต เขาค้น พบว่า ความรู้สึกมีส่วนได้ส่วนเสียของผู้บริโภค หรือคนในชุมชน ยิ่งเล็ก ยิ่งใกล้ชิด ก็ยิ่งสร้าง จิตสำนึกที่ดีต่อผู้ประกอบการให้ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและชุมชนสูงขึ้น ดังนั้นถ้าจะมองว่าเมื่อทุกคนมีบทบาทของการเป็นผู้บริโภคในตัว นั่นเท่ากับทุกคนเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กรธุรกิจต่างๆ เพียงแต่ว่า แต่ละคนจะอยู่ในบทบาทที่ต่างกัน เช่น ภาคเอกชน ราชการ นักการเมือง นักศึกษา ผู้ใช้แรงงาน จุดร่วมของการเป็นสเต๊กโฮลเดอร์ นี่แหละที่จะกลไกในการเปลี่ยนแปลงมิติต่างๆ ในสังคม

“ทางเดียวที่กำหนดทิศทางขององค์กร ธุรกิจได้คือ สเต๊กโฮลเดอร์ ในอดีตสเต๊กโฮลเดอร์ที่เข้มแข็งที่สุดคือนายทุน เพราะเป็นยุคใครถือเงินใหญ่สุด แต่ตอนนี้แค่ถือเงินไม่พอต้องเป็นคนที่ถือเงินแล้วบอกได้ด้วยว่า นอกจากจะทำธุรกิจให้กำไรแล้วเขาต้องเป็นคนดีและรับผิดชอบต่อธุรกิจของตัวเอง การบริหารสเต๊กโฮลเดอร์ให้ดีทุกฝ่ายต้องก้าวไปด้วยกัน”

ดร.เมธาคุณค่อนข้างเชื่อมั่นในการใช้ธุรกิจหรือกลไกทางเศรษฐศาสตร์เป็นตัวนำในการเปลี่ยนแปลงสังคม นั่นเพราะว่าเกือบทุกส่วนในสังคมทุกวันนี้อยู่ได้ด้วยเม็ดเงินจากธุรกิจที่กระจายออกไปยังส่วนต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่ขยะที่เหลือทิ้งออกมาจากชุมชน ก็เริ่มต้นมาจากระบบของธุรกิจเช่นกัน

จากประสบการณ์การทำงานปีเศษใน กทม. ทำให้ ดร.เมธาคุณเชื่อว่าการเปลี่ยน แปลงกรุงเทพฯ เริ่มต้นได้ด้วยแนวทางเดียว กันนี้เช่นกัน เขาจึงเริ่มต้นเปลี่ยนกรุงเทพฯ สู่เมืองสีเขียวตามแนวของผู้ว่าราชการกรุงเทพ มหานครคนปัจจุบัน ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ด้วยเรื่องขยะ ภายใต้บทบาทที่เขามีอยู่ในฐานะ นักวางกลยุทธ์ด้านสิ่งแวดล้อม

ขยะคือสิ่งที่เป็นรูปธรรม ที่สามารถเป็นตัวประจาน กทม.ได้ตั้งแต่ระบบการจัดการไปถึงการสะท้อนคุณภาพชีวิตของคนในเมือง ปัจจุบัน กทม.มีปริมาณขยะวันละประมาณ 10,000 ตัน และกำลังจะเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ นอกเหนือจากอีกหลายเรื่องใน กทม.ที่กำลังค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปพร้อมกันทีละนิด ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุง ระบบขนส่งมวลชน การจัดผังเมือง และงานศึกษาวิจัยเรื่องต่างๆ

“ปัญหาของ กทม.ไม่ได้อยู่ที่ผู้บริหาร แต่อยู่ที่อำนาจในการบริหารจัดการ กทม. เป็นแหล่งรวมสาธารณูปโภคมากมาย แต่ทั้งไฟฟ้า น้ำประปา ขนส่งมวลชน ทุกอย่างไม่ได้อยู่ในอำนาจการจัดการของ กทม.เลย สิ่งที่ดีที่สุดของ กทม.คือคน คน กทม.ตั้งแต่ระดับรากหญ้ามีอิทธิพลสูง ไม่ได้เป็นแค่รากหญ้าประเภทใช้แรงงาน แต่มีการศึกษาและต้องการสังคมที่ดีขึ้น และจำนวนไม่น้อยมีพื้นฐานในการจัดการสิ่งแวดล้อมรอบตัวตามสภาพถูกบังคับโดยเศรษฐกิจ ทำให้ต้องประหยัด เลือกสรร และปรับสภาพแวดล้อมของตัวเองให้ดีเพื่อความเป็นอยู่ที่เหมาะสม เมื่อเราสื่อสารให้เข้าใจประโยชน์ที่จะได้ถึงตัวเขาได้ ก็จะสามารถเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงได้ การสื่อสารจึงมีบทบาทสำคัญมาก”

งานสิ่งแวดล้อมที่ ดร.เมธาคุณเริ่มต้นด้วยเรื่องเดิมๆ อย่างขยะ เขาเริ่มด้วยการสื่อสารด้วยวิธีคิดง่ายๆ ไปยังชุมชนเป้าหมาย ต่างๆ ซึ่งอาจจะดูง่ายเกินไปด้วยซ้ำในสายตา นักบริหารจัดการที่เคยทำกันมา แต่เขาให้ประเด็นสำคัญว่า อยู่ที่ทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องที่คนเข้าใจได้จริงได้ดีแค่ไหน

“เรื่องขยะพูดกันมาเยอะ แต่ผมก็เลือก จัดสัมมนาเรื่องขยะ กทม.เป็นงานแรก เอาชุมชนมาฟัง บอกเขาถึงปัญหาขยะ ถ้าไม่แยก ขยะเปียกจากขยะแห้งเขาจะฝังรวมกันหมด สุดท้ายก็เกิดก๊าซเรือนกระจก เชื่อไหมว่า ยังมีคนไม่เข้าใจ มีชุมชนบอกว่าเขาไม่รู้มาก่อน ถ้าบอกอย่างนี้ว่ามันสำคัญอย่างไรที่ต้องทำเขาก็ทำแล้ว ที่ผ่านมาส่วนใหญ่บอกให้ reuse recycles เขาไม่เข้าใจ”

และเพื่อไม่ต้องให้คิดเยอะปฏิบัติได้ทันที ดร.เมธาคุณให้หลักการง่ายๆ ในการจัดการขยะรอบตัวพวกเขาว่า “อันไหนที่ใช้ได้ เก็บไว้ใช้ ที่ขายได้เก็บไว้ขาย ที่ต้องทิ้งแยกทิ้งสองถัง แห้งกับเปียก”

เป็นความง่ายที่การจัดการแต่แทรกหัวใจความสำเร็จในเชิงเศรษฐศาสตร์ไว้ให้เห็น โดยไม่ต้องคิดถึงการเป็นผู้เชี่ยวชาญในการคัดแยกขยะ

“นี่คือหลักการที่ผมพูดกับชุมชน เพราะผมคิดว่าจะทำเรื่องขยะให้ยั่งยืนได้ ต้องได้ตังค์ ขั้นตอนต่อไป เมื่อเราจะพูดเรื่องการคัดแยกขยะถ้าคน กทม.ไม่ถนัดที่จะสื่อสาร เราก็เอาท์ซอสจ้างผู้เชี่ยวชาญมาจัดนิทรรศการเรื่องคัดแยกขยะตอกย้ำอีกที เท่านั้นก็ทำให้การสื่อสารได้ผลมากขึ้น กทม.ก็ได้ภาพของการสื่อสารกับคน กทม.ที่ทันสมัยในสายตาผู้บริโภคอีกด้วย”

กระบวนการเปลี่ยนแปลงจากเรื่องขยะ กทม.ไม่ได้หยุดแค่ชุมชน แต่ภายใต้อำนาจการดำเนินงานของกรุงเทพธนาคม ซึ่งมีอำนาจบริหารจัดการโครงการภายใต้งบประมาณที่มีมูลค่าโครงการไม่เกินพันล้านบาท กำลังนำมาซึ่งการแก้ปัญหาขยะก้อนใหญ่ของกทม.อย่างเป็นระบบเพิ่มขึ้นด้วย

ที่ผ่านมา ครัวเรือนใน กทม.ที่แยกขยะ ด้วยตัวเอง ซาเล้งและนักคุ้ยขยะบวกกับพนักงานเก็บขยะกว่าพันคนที่กระจายเก็บขยะ ทั่ว กทม.รวมกัน สามารถลดปริมาณขยะ กทม.ลงไปได้ 1,000 ตัน จากปริมาณขยะทั้งหมดใน กทม.เฉลี่ยวันละ 10,000 ตัน เรียกว่า 1,000 ตันแรกนั้นผันไปเป็นรายได้ให้กับสเต๊กโฮลเดอร์ เป็นขยะที่มีมูลค่า เพิ่มโดยตรง คิดแล้วไม่ต่างจากการเป็นสินค้า ที่เพิ่มเงินในกระเป๋าให้กับคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่ง ดร.เมธาคุณประเมินว่าใน กทม.มีคนที่หากินอยู่กับขยะนับหมื่นคนเลยทีเดียว แต่ปริมาณขยะอีกวันละ 9,000 ตันที่เหลือ มีทั้งปัญหาและมูลค่าที่ กทม.ต้องจัดการในขั้นตอนต่อไป

กทม.มีหน้าที่ตั้งแต่เริ่มต้นขนส่งขยะคือจากแหล่งกำเนิดขยะมาสู่โรงจัดการขยะ ขยะจำนวนนี้ถูกแบ่งเป็น 2 สาย แต่ละสายมีบริษัทรับเหมากำจัดดูแลอยู่ด้วยอัตราค่าจ้าง กำจัดจาก กทม.ตันละ 500 บาท ด้วยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำบวกกับสัมปทานในการรับกำจัด ระยะสั้นครั้งละ 5 ปี ขยะ กทม.จึงถูกจำกัดรูปแบบกำจัดไว้แค่การฝังกลบ และทำให้ขยะ อินทรีย์ซึ่งมีปริมาณสูงกลายเป็นเชื้อหมักชั้นดี ที่นอกจากส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งบริเวณพื้นที่ฝังกลบและบริเวณใกล้เคียงที่ลมพัดไปถึง ยังเป็นแหล่งกำเนิดก๊าซมีเทนที่ส่งผลกระทบต่อโลกร้อนมากยิ่งกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 20 เท่า

“ผมมองว่าธุรกิจนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นธุรกิจที่ทำกำไรสูงสุด แต่มันสร้างงานและสร้าง ประโยชน์ให้กับคนที่เกี่ยวข้อง เหมือนซาเล้งที่มีมานานเพราะเขาเห็นโอกาสจากการขายของเก่าเราเพียงแค่เอากลไกเศรษฐศาสตร์มานำหน้าขยายผล วัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดผลกำไรสูงสุดต่อทุกฝ่าย ผู้บริโภคได้ สังคมโดยรวมได้ กลไกเศรษฐศาสตร์ที่ดีของยุคนี้ต้องเป็น win-win เท่านั้น ไม่มี win-lose”

นั่นคือบทสรุปแนวคิดที่ ดร.เมธาคุณนำมาขยายผลต่อกับการบริหารจัดการขยะ เมื่อโจทย์มีว่า กทม.ต้องการให้การคัดแยกขยะ ปลายทางมีประสิทธิภาพสูงขึ้นแต่จ่ายเท่าเดิม จะมีอะไรจูงใจให้ผู้รับกำจัดยอมลงทุนกับกองขยะ ของ กทม.มากกว่าแค่การฝังกลบ

“เราเริ่มจากเจรจากับผู้รับเหมาราคาเดิม แต่ให้แยกและจัดการขยะเพิ่มขึ้นมากกว่าฝังกลบ ทุกอย่างอย่างเดียว อะไรที่จะทำให้เขายอมทำ ถ้าสัมปทานแค่ 5 ปีทำให้เขาไม่มั่นใจที่จะลงทุนสร้างโรงคัดแยก กทม.ก็ไม่อยากจ่ายเพิ่ม ในขั้นต้น จึงลงตัวที่เราจะขยายอายุสัมปทานจาก 5 ปีให้นานขึ้น ส่วนเขาก็มีงานเพิ่มประสิทธิภาพขยะ”

การเปลี่ยนแปลงในเบื้องต้นของปลายทาง ขยะจาก กทม. กำลังจะเปลี่ยนให้มีการคัดแยก สูงขึ้นโดยการลงทุนโรงคัดแยกขยะของผู้ได้รับสัมปทาน เป้าหมายเพื่อคัดแยกขยะที่สามารถนำ มาปั้นก้อนเพื่อเป็นพลังงานความร้อนจำหน่ายเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ ซึ่งมีกฎหมายระบุให้เป็นผู้กำจัดขยะแทนเตาเผาขยะจากกระบวนการผลิตปูนที่ต้องใช้อุณหภูมิในการเผาไหม้สูง

“โรงปูนก็เป็นอีกสเต๊กโฮลเดอร์ที่เขาต้อง หาขยะมาเป็นเชื้อเพลิงส่วนหนึ่ง แต่ติดข้อแม้ว่าไม่มีบทบาทในการขนส่งขยะ หรือแม้แต่จะพูดว่า ขนขยะจากที่อื่นมาเผาในโรงปูน ก็จะเกิดความขัดแย้งกับชุมชนใกล้เคียงทันที เราเรียกโรงปูน 3 แห่งมานั่งคุย ทุกคนยินดีหากได้ขยะปั้นก้อนมา เป็นเชื้อเพลิง นั่นเท่ากับ win-win ทุกฝ่าย โรงขยะคัดแยกมีรายได้เพิ่มจากขยะปั้นก้อนที่ขายเป็นเชื้อเพลิง มีระยะเวลาสร้างรายได้อย่างมั่นคง โรงปูนมีเชื้อเพลิงที่เอาไปเคลมคาร์บอนเครดิตได้อีก คนกรุงเทพฯ ก็ไม่ต้องวุ่นวายประท้วงเพราะไม่จำเป็นต้องมีเตาเผาขยะ ผู้ว่าฯ กทม.เองซึ่งหาเสียงว่าจะทำให้ กทม.เป็นเมืองปลอดขยะ ก็มีแนวโน้มจะเป็นจริงได้และไม่ใช่แค่การเอาขยะ ไปทิ้งที่อื่น”

ทั้งหมดนี้คือทฤษฎีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียง่ายๆ ที่ ดร.เมธาคุณนำมาใช้จัดการขยะ เพื่อเปลี่ยน กทม.สู่เมืองสีเขียว โดยเริ่มจากจุดเล็กๆ ระดับบุคคลผู้อยู่อาศัยที่เป็นหน่วยย่อยที่สุดในเมือง ไปสู่แหล่งรวมขยะกองโตที่ปลายทาง นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมในแบบง่ายๆ ที่เขาเชื่อว่ากลยุทธ์ที่ให้ประโยชน์กับทุกฝ่ายนั่นเองคือแก่นแท้ของการแก้ปัญหาในแบบนวัตกรรมสังคมที่เห็นผลและจะเป็นทางออกของการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

ขอบคุณ : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ