วันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ฮุนมาเน็ตส่งทหารกว่าพันชิดปอยเปต

 ภาพประกอบ

 

"ฮุน มาเน็ต" ส่งทหารองค์รักษ์ฯกว่า 1,000 นาย พร้อมรถถัง 3 คันประชิดชายแดนปอยเปต อ้างคุ้มกัน"ฮุน เซน"มาเปิดถนนใกล้ปอยเปตความยาว 144 กม.จากปอยเปต ถึง กรุงไพลิน ตรงข้ามจันทบุรี ชาวเขมรตื่นข่าวลือ 15 ก.พ.กัมพูชาจะปิดด่านปอยเปตด้วย


เมื่อเช้าวันที่ 13 ก.พ. ด่านพรมแดนอรัญประเทศ จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ซึ่งอยู่ตรงข้ามกรุงปอยเปต อ.โอวจโรว จ.บันเตียเมียนเจย ประเทศกัมพูชา เจ้าหน้าที่ด่านพรมแดน ทั้งสองประเทศยังคงเปิดด่านฯตามปกติ และยังมีพ่อค้า แม่ค้า และกรรมกรชาวเขมรจำนวนกว่า 1 หมื่นคนเดินทางข้ามด่านพรมแดนฯจากฝั่งปอยเปต เข้ามาทำการค้าและรับจ้างในตลาดโรงเกลือ ฝั่งไทย ท่ามกลางกระแสข่าวลือที่สะพัดไปทั่วตลาดปอยเปต ฝั่งกัมพูชาว่าในวันที่ 15 ก.พ. 54 รัฐบาลกัมพูชาจะสั่งปิดด่านพรมแดนปอยเปต-อรัญประเทศ ฝั่งกัมพูชา ทำให้พ่อค้า แม่ค้าชาวเขมรต่างแตกตื่นเช็คข่าวกันให้วุ่น

โดยข่าวลือดังกล่าวได้ออกมาในช่วงที่รัฐบาลกัมพูชาประกาศว่าในวันที่ 15 ก.พ. 54 สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา จะเดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดการก่อสร้างถนนหมายเลข 59 ห่างจากกรุงปอยเปต ประมาณ 13 กม. ทำให้มีข่าวลือออกมาว่ารัฐบาลกัมพูชาเตรียมสั่งปิดด่านปอยเปต เพื่อต้อนรับและอารักษ์ขาความปลอดภัยให้กับสมเด็จฮุน เซน ในวันที่สมเด็จฮุน เซน มาเป็นประธานเปิดถนนฯ

จากข่าวลือว่ากัมพูชาจะปิดด่านปอยเปต ในวันที่ 15 ก.พ. 54 ที่จะถึงนี้หน่วยความมั่นคงของไทย ได้มีการตรวจสอบ และสอบถามไปยัง จนท.ฝ่ายกัมพูชา ในกรุงปอยเปต ซึ่ง จนท.กัมพูชาได้ให้รายละเอียดกลับมาว่ายังไม่มีคำสั่งปิดด่านปอยเปตใดๆ เป็นเพียงข่าวลือเท่านั้น และยอมรับว่าในวันที่ 15 ก.พ. 54 สมเด็จฮุน เซน จะเดินทางมาเป็นประธานเปิดการก่อสร้างถนนหมายเลข 59 จริง แต่ไม่มีการสั่งปิดด่านฯ

ส่วนทางด้านแหล่งข่าวทางทหารของกัมพูชาในฝั่งปอยเปต ได้อ้างว่า พล.ท.ฮุน มาเน็ต ซึ่งเป็นลูกชายของสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา และดำรงค์ตำแหน่ง รอง ผบ.สส.กัมพูชา และ รอง ผบ.หน่วยองค์รักษ์ฮุน เซน ได้ส่งทหารหน่วยองค์รักษ์ฯจำนวนกว่า 1000 นาย พร้อมอาวุธสงครามครบมือ และรถถัง 3 คัน ลงมาเพื่อสนับสนุนและดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับสมเด็จฮุน เซน โดยเสริมกำลังเข้ามาประจำการตลอดแนวถนนหมายเลข 59 ซึ่งเป็นถนนที่จะก่อสร้างเลียบแนวชายแดนที่ติดกับประเทศไทยทางด้าน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ไปจนถึง กรุงไพลิน ตรงข้าม จ.จันทบุรี ของไทย มีระยะทางยาวกว่า 144 กม.โดยได้นำรถถัง 3 คันไปประจำการอยู่ที่บ้านเขาลูกช้าง อ.โอวจโรว จ.บันเตียเมียนเจย ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับ อ.อรัญประเทศ ของไทย และ พล.ท.ฮุน มาเน็ตฯจะมาบัญชาการหน่วยทหารองค์รักษ์ฯด้วยตนเอง

ถนนหมายเลข 59 นั้นจะเป็นถนนยุทธศาสตร์เส้นใหม่เลียบชายแดนของกัมพูชาเชื่อมต่อระหว่างกรุงปอยเปต อ.โอวจโรว จ.บันเตียเมียนเจย ผ่านไปยัง อ.สำเภารูน จ.พระตะบอง ซึ่งอยู่ตรงข้ามบ้านเขาดิน อ.คลองหาด จ.สระแก้ว ไปจนถึง จ.ไพลิน ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับ จ.จันทบุรี ของไทย ระยะทางยาวกว่า 144 กม. โดยต้นทางมาเชื่อมต่อถนนหมายเลข 5 บริเวณแยกบ้านนิมิต อ.โอวจโรว จ.บันเตียเมียนเจย ซึ่งอยู่ห่างจากด่านพรมแดนอรัญประเทศ –ปอยเปต ประมาณ 13 กม.ซึ่งสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา จะเดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดการก่อสร้างฯในวันที่ 15 ก.พ. 54 นี้

จากการที่ พล.ท.ฮุน มาเน็ต ได้ส่งกำลังหทารองค์รักษ์ฯจำนวนมากลงมาพื้นที่ติดชายแดน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ในครั้งนี้ ทำให้หน่วยความมั่นคงของไทยต้องระมัดระวังป้องกันอย่างเต็มที่เนื่องจากเกรงจะเกิดอุบัติเหตุทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันได้ อีกทั้งหน่วยองค์รักษ์ฯก็มาจากต่างพื้นที่และไม่รับฟังคำสั่งหน่วยทหารกัมพูชาในพื้นที่ด้วย เกรงจะเกิดการกระทบกระทั่งกันบริเวณชายแดน

ผลสำรวจ ปชช.กว่าร้อยละ 87ชื่นชมทหารไทย

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง เสียงสะท้อนของประชาชนต่อปัญหาชายแดนระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ลพบุรี สมุทรปราการ จันทบุรี นครนายก สุพรรณบุรี พะเยา เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ อุบลราชธานี นครพนม ชัยภูมิ สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา ตรัง และนครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 2,971 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการในช่วง 7 - 12 กุมภาพันธ์ 2554 ผลการสำรวจพบว่า ประชาชนที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90 ติดตามข่าวสารเป็นประจำทุกสัปดาห์

ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.7 วิตกกังวลต่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่รัฐที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา รองลงมาคือ ร้อยละ 78.2 กังวลต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ในขณะที่ร้อยละ 69.2 กังวลต่อความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยของเด็กๆ ร้อยละ 69.1 กังวลต่อการเสียขวัญและกำลังใจของประชาชนตามแนวชายแดน ร้อยละ 68.3 กังวลต่อความมั่นคงของประเทศ ร้อยละ 64.2 กังวลต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศ และร้อยละ 51.6 กังวลต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาชาวโลก

เมื่อถามถึงความเหมาะสมในการทำหน้าที่ของทหารไทยในสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.4 ระบุทหารไทยทำหน้าที่ได้เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ดีแล้ว ในขณะที่ร้อยละ 12.6 ระบุยังไม่สอดคล้องกับสถานการณ์

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อรัฐบาลไทยในการใช้วิธีแก้ปัญหาชายแดนไทยกัมพูชา ผลสำรวจพบว่า อันดับแรก หรือร้อยละ 54.7 ระบุเป็นการเจรจาตรงระหว่างรัฐบาลไทยกับกัมพูชา ในขณะที่ร้อยละ 17.3 ระบุการเจรจาผ่านองค์การสหประชาชาติ หรือประเทศที่เป็นกลาง ร้อยละ 5.0 เท่านั้นที่ระบุให้ทำสงคราม และร้อยละ 23.0 ระบุให้ใช้ทุกวิธี

อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.8 ยังคงมีความหวังว่าจะหันมาร่วมมือกันพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชาได้ด้วยดี ในขณะที่ ร้อยละ 19.2 ไม่มีความหวัง สำหรับความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา พบว่า จำนวนมากหรือร้อยละ 41.3 เชื่อมั่นมากถึงมากที่สุด ร้อยละ 30.7 เชื่อมั่นปานกลาง ในขณะที่ร้อยละ 28.0 เชื่อมั่นน้อยถึงไม่เชื่อมั่นเลย

ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ผลสำรวจในครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า คนไทยเกือบทุกคนที่แสดงความห่วงใยต่อทหารและเจ้าหน้าที่รัฐผู้ปฏิบัติหน้าที่ปกป้องราชอาณาจักรของประเทศ ดังนั้นน่าจะถึงเวลาที่กลุ่มคนชนชั้นนำที่คอยชี้นำสังคม กลุ่มนายทุน ผู้ประกอบการค้าธุรกิจและประชาชนทุกหมู่เหล่าแสดงพลังความสามัคคีให้ปรากฏต่อสายตาชาวโลกด้วยสันติวิธีในเชิงสร้างสรรค์อย่าง นานาประเทศที่เจริญแล้ว ควรประพฤติปฏิบัติต่อกันว่าคนไทยทุกคนมี “สติ” และ “ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” และพร้อมส่งพลังความดีและปัจจัยสำคัญทั้งในรูปของการบริจาคสิ่งของยังชีพและทุนทรัพย์แก่เจ้าหน้าที่รัฐและประชาชน พลเรือนทั้งคนไทยและชาวกัมพูชา บนพื้นฐานของหลักคุณธรรม ฉายภาพความเมตตาและเอื้ออาทรให้ชาวโลกได้เห็นว่า พลเรือนคนไทยและกัมพูชา ยังคงรักความสงบความมีไมตรีจิตต่อกัน ก็น่าจะทำให้ความหวังของคนไทยส่วนใหญ่เป็นจริงขึ้นมาได้ว่า ความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่าง ไทยกับกัมพูชา เป็นเรื่องที่ยังคงเป็นจริงขึ้นมาได้มากยิ่งขึ้น

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 48.9 เป็นชาย ร้อยละ 51.1 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 4.7 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 23.9 อายุระหว่าง 20–29 ปี ร้อยละ 26.4 อายุระหว่าง 30–39 ปี ร้อยละ 25.3 อายุระหว่าง 40–49 ปี และ ร้อยละ 19.7 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 63.4 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 31.3 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 5.3 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 31.6 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 28.0 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 8.6 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 15.1 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 7.3 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 5.5 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 3.9 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ขอบคุณ : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก