วันเสาร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

กัมพูชากำลังโหมกระพือให้ร้ายป้ายสีไทย


กัมพูชากำลังโหมกระพือให้ร้ายป้ายสีไทยในโค้งสุดท้ายก่อนสหประชาชาติจะเปิดประชุมพิจารณาปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชาในวันจันทร์นี้ นายซกอานบอกกับเอกอัครราชทูตอังกฤษกับเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำกรุงพนมเปญว่า กองทัพไทยใช้ "อาวุธที่ไม่ธรรมดา” "ทำสงคราม" กับกัมพูชาระหว่างวันที่ 4-7 ก.พ.2554 รวมทั้งกระสุนปืนใหญ่บรรจุระเบิดพวง (Cluster Bomb) และก๊าซพิษด้วย
      
       ความพยายามดังกล่าวมีขึ้นหลังจาก การประกาศว่ากัมพูชาไม่เคยมีทหารประจำที่ปราสาทพระวิหาร ถูกเปิดโปงด้วยภาพถ่ายของสำนักข่าวต่างๆ ทำให้ความพยายามในการกุเรื่องกล่าวหว่า ฝ่ายไทยตั้งใจยิงทำลายปราสาทเก่าแก่มรดกโลกจน "พังไปแถบหนึ่ง" นั้นดูไร้น้ำหนัก
      
       ทั้งอังกฤษและรัสเซียต่างเป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เช่นเดียวกันกับ จีนและสหรัฐ ที่สามารถใช้สิทธิยับยั้งข้อมติใดๆ ของคณะมนตรีความมั่นคง (UN Security Council) ได้
      
       นายโสกอานที่เป็นทั้งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เป็นคนใกล้ชิดที่ได้รับความไว้วางใจจากฮุนเซน ยังกล่าวหาอีกว่า "พวกหัวรุนแรงไทย" คือ พวกคนเสื้อเหลือง ได้กดดันให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของไทย ส่งทหารเข้าขับไล่ราษฎรกัมพูชาออกจากบริเวณรอบๆ ปราสาทพระวิหาร
      
       “ดังนั้นสถานการณ์ปัจจุบันจึงอันตรายมาก เราเห็นว่านายรัฐมนตรีไทยอภิสิทธิ์ กำลังทำเพื่อให้พวกเสื้อเหลืองบรรลุความต้องการในการยึดเอาดินแดนดินแดนของกัมพูชา” นายอานวาดภาพกล่าวหาต่อไป
      
       นายอานยังสร้างเรื่องโกหกพกลมต่อไปอีก โดยอ้างข้อมูลของแหล่งข่าวทหารว่าขณะนี้ไทยได้ส่งทหารราว 25,000 คนเข้าประชิดชายแดนกัมพูชา ส่งถังอีกกว่า 100 คัน และปืนใหญ่อีกจำนวนมากสนับสนุน
      
       กัมพูชากำลังพยายามโหมกระพือทำให้สถานการณ์ชายแดนอยู่ในสภาพเลวร้าย โดยกล่าวหาว่าฝ่ายไทยมีแผนการจะบุกยึดดินแดนกัมพูชา ก่อนหน้านี้นายกฯ ฮุนเซน กล่าวว่า สถานการณ์ช่วงในที่ 4-7 ก.พ.ที่ผ่านมานั้นไม่ใช่ "การปะทะ" หากเป็น "สงคราม" และเรียกร้องให้สหประชาชาติดำเนินการเร่งด่วน จัดส่งทหารเข้าตั้ง "เขตกันชน” ที่ชายแดน
      
       คณะมนตรีความมั่นคงฯ กำลังจะเปิดประชุมลับ ในวันจันทร์นี้ในนครนิวยอร์ก นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีต่างประเทศไทย กับ นายฮอร์นัมฮอง ของฝ่ายกัมพูชา จะเข้าให้ข้อมูลแบบตัวต่อตัว โดยมีนายมาร์ตี นาตาเลกาวา (Marty Natalegawa) รมว.ต่างประเทศอินโดนีเซียเข้าร่วมด้วย
      
       รมว.ต่างประเทศอินโดนีเซียซึ่งทำหน้าที่ประธานกลุ่มอาเซียนในปีนี้ ได้เดินทางไปพบกับทั้งฝ่ายกัมพูชาและฝ่ายไทยปลายสัปดาห์ที่แล้ว ในความพยายามไกล่เกลี่ย
      
       กัมพูชาพยายามมาตั้งแต่ปี 2551 ที่จะขยายปัญหาชายแดนซึ่งเป็นปัญหาสองฝ่าย ให้เป็นปัญหาระหว่างประเทศ ขณะที่ไทยยืนยันว่าจะต้องแก้ไขแบบทวิภาคีเท่านั้น
      
       กัมพูชานำปัญหาชายแดนเข้า UNSC ครั้งแรกในเดือน ก.ค.2551 ขณะเวียดนามกำลังทำหน้าที่ประธานการประชุมประจำเดือน หลังจากสองฝ่ายเผชิญหน้ากันในพื้นที่ทับซ้อนๆ รอบๆ ปราสาท ที่ไทยได้กล่าวอ้างเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเช่นกัน
      
       แต่เวียดนามต้องถอนเรื่องนี้ออกจาก UNSC หลังจากกลุ่มอาเซียนที่สิงคโปร์กำลังทำหน้าที่ผู้นำ ได้เข้าไกล่เกลี่ย นำไปสู่การเจรจาสองฝ่าย และ ถอนทหารออกจากพื้นที่พิพาทฝ่ายละหลายร้อยนาย
      
       "สถานการณ์หนักหน่วงมาก อันตรายมา ก ไม่มีใครบอกได้ว่าไทยจะโจมตีเราอีกเมื่อไร" นายอานบอกกับทูตอังกฤษ กับทูตรัสเซียในตอนค่ำวันศุกร์ 11 ก.พ. ทั้งนี้เป็นรายงานของสำนักข่าวเอเคพี ซึ่งเป็นของรัฐบาล
      
       "สงคราม" ที่เพิ่งจะผ่านไปนี้ทำให้ทหารกัมพูชาเสียชีวิต 4 คน พลเรือนอีก 2 ตำรวจอีก 1 มีพลเรือนได้รับบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 30 คนจากการยิงถล่มของไทย ราษฎรอีกกว่า 3,000 ครัวเรือนรวมกว่า 10,000 คน ต้องอพยพจากพื้นที่ นายอานกล่าว
      
       เล่ห์กลของฝ่ายกัมพูชาเป็นที่ชัดเจนมากคือ ต้องการให้ยูเอ็นเข้าแทรกแซง ปัญหานี้เพื่อยึดครองพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรต่อไป โดยอ้างแผนที่ที่ฝรั่งเศสจัดทำขึ้นเมื่อกว่า 100 ปีก่อน ซึ่งขัดเจตนารมณ์ของสนธิสัญญาปักปันเขตแดนฝรั่งเศส-สยาม ที่ให้ใช้สันปันน้ำเป็นเส้นเขตแดนธรรมชาติ
      
       เมื่อกัมพูชาผลักดันปัญหาเข้า UNSC ครั้งแรกในปี 2551 นายดอน ปรมัตถ์วินัย อดีตเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำยูเอ็น ให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ระบุว่า กัมพูชามีเจตนาที่จะเรียกร้องดินแดนอื่นๆ อีกหลายแห่งตลอดแนวชายแดน สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเรื่องนี้เมื่อวันที่ 23 ก.ค.
      
       "กรณีนี้ได้ไปไกลกว่าพระวิหาร ซึ่งตกเป็นของพวกเขาเรียบร้อยไปแล้ว” และ กัมพูชากำลังพยายามทำให้ประชาคมระหว่างประเทศยอมรับแผนที่ฝรั่งเศสฉบับหนึ่ง ที่จัดทำขึ้นครั้งที่กัมพูชายังเป็นดินแดนอาณานิคม ซึ่งจะทำให้ได้ดินแดนอีกหลายจุดที่ไทยกล่าวอ้างอธิปไตยอยู่ในขณะนี้
      
       “บางครั้งมิตรภาพอันจริงใจของเรา ก็ทำให้เรามองข้ามเจตนาอันสูงสุดของเพื่อนบ้านเราไป” นายดอน กล่าว
      
       “ในกรณีนี้พวกเขาใช้ยุทธวิธีกองโจรในการโจมตีเรา” เอกอัครราชทูตไทยประจำยูเอ็นในครั้งนั้นกล่าว.
ขอบคุณ : http://www.manager.co.th/