วันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

มาดูอาวุธยุทโธปกรณ์เขมรกัน

กัมพูชาได้ระดมสรรพกำลัง รวมทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์เข้าสู่ชายแดนไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แสดงความพร้อมเต็มรูปแบบในการทำสงครามชายแดนกับไทยที่เริ่มมาตั้งแต่วันศุกร์ 4 ก.พ.2554 รวมทั้งการนำเอารถบรรทุกรุ่นใหม่ที่ได้รับบริจาคจากรัฐบาลสหรัฐฯ กับรัฐบาลจีนในปี 2551 และ 2553 ออกใช้เป็นครั้งแรกด้วย       
       ไม่เพียงแต่จะเห็นรถถัง T-55 กับ ยานลำเลียงพลหุ้มเกราะ BTR-60 ที่ซื้อจากสาธารณรัฐยูเครนใหม่เอี่ยมเมื่อปีที่แล้วเท่านั้น ภาพถ่ายจากชายแดนฝั่งกัมพูชา ล่าสุด ได้เปิดเผยให้เห็นรถบรรทุกทหารใช้แล้วที่สหรัฐฯ บริจาคให้ในปี 2551 กำลังขนส่งทหารและอพยพราษฎรออกจากพื้นที่
      
       อีกภาพหนึ่งเผยให้เห็นรถบรรทุกที่รัฐบาลจีนบริจาคให้ ถูกนำไปติดตั้งจรวด BM-21 "Grad" ซึ่งเป็นจรวดหมู่ (จรวดชุดหรือจรวดซัด) ที่ผลิตในสหภาพโซเวียตในอดีต กัมพูชาได้จรวดแบบนี้ ยิงโจมตีไทยในการปะทะบ่ายวันศุกร์ เช้าวันเสาร์และคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ในบริเวณรอบๆ ปราสาทพระวิหารฝ่ายทหารของไทยกล่าว
      
       ต่างไปจากการปะทะ 2 ครั้งแรกในเดือน ต.ค.2551 และ เดือน เม.ย.2552 ซึ่งครั้งนั้น ฝ่ายกัมพูชายังคงใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่แบบเดิมที่ผลิตในโซเวียตบรรทุกทหารและพลเรือน รวมทั้งใช้ติดตั้งจรวดซัดด้วย
      
       ในเดือน มิ.ย.2551 ขณะที่ไทยกับกัมพูชากำลังพันตูกันเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร สหรัฐฯ ได้ส่งมอบรถบรรทุกทหารที่ใช้แล้วจำนวน 63 คันให้แก่กัมพูชา จากทั้งหมด 200 คันในโครงการช่วยเหลือประเทศนี้ปฏิรูปกองทัพให้ทันสมัย มีขนาดเล็กลงและมีความโปร่งใส การส่งมอบหยุดชะงักลงหลังรัฐบาลฮุนเซนส่งชาวอุ้ยกูร์ราว 20 คนให้รัฐบาลจีนในเดือน ธ.ค.
      
       ชาวอุ้ยกูร์เหล่านั้น ลักลอบเดินทางออกจากจีนเพื่อขอลี้ภัย หลังการจลาจลใหญ่ในมณฑลซินเจียง-อุ้ยกูร์ และถูกทางการคอมมิวนิสต์เข้าปราบปราม ทั้งหมดกำลังติดต่อกับสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติในกรุงพนมเปญ
      
       รัฐบาลกัมพูชาประกาศส่งทั้ง 20 คนไปให้จีน เพียง 1 วัน ก่อนที่นายซีจิ่นผิง (Xi Jinping) รองประธานาธิบดีจีน จะเยือนกัมพูชาในวันที่ 21 ธ.ค.2552 ซึ่งจีนได้ให้เงินกู้กับเงินให้เปล่าแก่รัฐบาลฮุนเซนถึง 1,200 ล้านดอลลาร์ แม้จะกล่าวว่าสองเหตุการณ์ไม่เกี่ยวกันก็ตาม




Made in China-- ภาพวันที่ 6 ก.พ.2554 ทหารกัมพูชากำลังจัดเตรียมจรวดชุดเพื่อยิงถล่มฝ่ายไทยที่ชายแดนใกล้ปราสาทพระวิหาร เป็นจรวด BM-21 "Grad" ที่ผลิตในสหภาพโซเวียตในอดีต แบบเดียวกับที่กัมพูชาทดลองยิง 200 ลูกในต้นปี 2552 ถูกดัดแปลงติดตั้งบนรถบรรทุกที่ได้รับบริจาคจากจีนเมื่อปีที่แล้ว กลายเป็นอาวุธลูกครึ่งทันสมัย .-- AFP PHOTO/Stringer.






 Made in China--ภาพวันที่ 6 ก.พ.2554 ดูใกล้ๆ จึงพบว่าเป็นรถบรรทุกที่ได้รับบริจาคจากรัฐบาลจีนปีที่แล้ว ถูกนำไปดัดแปลงและติดตั้งจรวดซัด BM-21 ที่ผลิตในสหภาพโซเวียต กลายเป็นอาวุธลูกครึ่งทันสมัย ทหารกัมพูชากำลังจัดเตรียม เพื่อยิงถล่มฝ่ายไทยที่ชายแดนใกล้ปราสาทพระวิหาร.-- AFP PHOTO/Stringer.






Made in USSR- ภาพแฟ้ม 16 ต.ค.2551 หลังการปะทะครั้งแรก 1 วันที่ชายแดนด้านภูมะเขือ รถบรรทุกที่ทำในสหภาพโซเวียต บรรทุกจรวดซัด BM-21 "Grad" วิ่งห้อไปตามถนนลูกรังใน จ.พระวิหาร ทำให้ฝุ่นคลุ้ง วันนี้กัมพูชาดัดแปลงจรวดไปติดตั้งในรถบรรทุกที่ได้รับบริจาคจากจีนเมื่อปีที่แล้ว คันเล็กกว่า คล่องตัวกว่าและน่าจะช่วยประหยัดน้ำมันได้มากกว่า.-- REUTERS/Chor Sokunthea.



Made in China-- ภาพแฟ้ม 23 มิ.ย. ทหารกัมพูชายืนอยู่หน้ารถบรรทุกลำเลียงพล "ตงเฟิง" (Dong Feng) เป็นหนึ่งในบรรดารถบรรทุกหลากชนิด ที่ได้รับมอบจากจีนจำนวน 257 คัน และ ในที่สุดก็ได้เห็นมาวิ่งที่ชายแดนไทยสัปดาห์ที่แล้ว.--REUTERS/Chor Sokunthea. 






Made in China-- ภาพแฟ้ม 23 มิ.ย.2551 ยานพาหนะที่จีนมอบให้แก่กองทัพกัมพูชาทั้งหมด 257 คันรวมทั้งรถพยาบาลและรถบรรทุกที่ดัดแปลงติดตั้งจรวดชุดที่ผลิตในโซเวียตได้ พิธีส่งมอบจัดขึ้นที่สนามบินทหาร กรุงพนมเปญ.----REUTERS/Chor Sokunthea.






Made in USSR-- พล.ท.จื่อเวินจุ้น (Zhi Wenjun) จากกองทัพประชาชนจีนมอบกุญแจสัญลักษณ์ ให้กับ พล.อ.เมือง สมพร ผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมกัมพูชา ฝ่ายจีนหวังว่ากัมพูชาจะนำรถบริจาคทั้งหมดไปใช้ประโยชน์ ในการ "พัฒนาเศรฐกิจและสังคม" ของประเทศ.--REUTERS/Chor Sokunthea.




Made in USA-- ภาพถ่าย 5 ก.พ.2554 รถบรรทุกทหารกัมพูชานำราษฎรออกจากพื้นที่ชายแดนด้านปราสาทพระวิหาร สังเกตุให้ดีจึงรู้ว่าเป็นรถบรรทุก GMC M35A2 ที่รัฐบาลสหรัฐฯ บริจาคให้จำนวน 63 คันเมื่อ 3 ปีก่อน เพิ่งจะเห็นรถบรรทุกคันใหญ่นี้ ออกมาวิ่งให้เห็นที่ชายแดนไทยเป็นครั้งแรก แทนรถบรรทุกจากสหภาพโซเวียตที่ใช้มาแต่ยุคสงครามเย็น.--AFP PHOTO.





Made in USA --ภาพแฟ้ม 2 มิ.ย.2551 ทหารกัมพูชาเฝ้ามองรถบรรทุก M35A2 GMC ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ส่งมอบลอตแรก 31 คัน จากทั้งหมด 63 คันในลอตแรก หลังจากนั้นก็ได้เกิดความบาดหมางกัน ทำให้สหรัฐฯ งดการส่งมอบมาจนบัดนี้ สัปดาห์ที่แล้วเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นรถบริจาคของสหรัฐฯ มาวิ่งที่ชายแดนด้านปราสาทพระวิหาร.--REUTERS/Chor Sokunthea.





Made in USA --ภาพแฟ้ม 2 มิ.ย.2551 ทหารกัมพูชาเฝ้ามองรถบรรทุก M35A2 GMC ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ส่งมอบลอตแรก 31 คัน จากทั้งหมด 63 คันในลอตแรก หลังจากนั้นก็ได้เกิดความบาดหมางกัน ทำให้สหรัฐฯ งดการส่งมอบมาจนบัดนี้ สัปดาห์ที่แล้วเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นรถบริจาคของสหรัฐฯ มาวิ่งที่ชายแดนด้านปราสาทพระวิหาร.--REUTERS/Chor Sokunthea.


  กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศในเดือน ก.พ.2553 ระบุว่า การหยุดส่งมอบรถบรรทุกทหารบริจาคจำนวนที่เหลือ เป็นมาตรการตอบโต้รัฐบาลฮุนเซนหลังจากได้ร้องขอไม่ให้เนรเทศชาวอุ้ยกูร์ แต่ฝ่ายกัมพูชาไม่ฟังเสียงทัดทาน
      
       ในเดือน พ.ค.2553 ฮุนเซน ได้ไปร่วมงานเซี่ยงไฮ้เอ็กซ์โป 2010 และ ได้พบหารือกับประธานาธิบดีจีน นายหูจิ่นเทา ในที่สุดรถบริจาคทุกชนิดรวม 257 คัน พร้อมเครื่องแบบทหารอีก 50,000 ชุด ก็ส่งถึงกรุงพนมเปญในเดือน มิ.ย.
      
       ฮุนเซน กล่าวว่า จีนเป็นมิตรที่ดี ช่วยเหลือกัมพูชาตลอดมา และ “ไม่พูดมาก”
      
       อย่างไรก็ตาม พล.ท.จื่อเวินจุน (Zhi Wenjun) ผู้ชี้นำทางการเมือง กรมใหญ่สรรพาวุธ กองทัพปลดแอกประชาชนจีน กล่าวในพิธีส่งมอบรถบรรทุกที่จัดขึ้นในกรุงพนมเปญ ในวันที่ 23 มิ.ย.2553 แสดงความหวังว่ารถบรรทุกทั้งหมดจะเป็นประโยชน์ต่อ “การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของกัมพูชา”
      
       “ข้าพเจ้าเชื่อว่า มิตรชาวกัมพูชาของเราจะสามารถใช้รถบรรทุกเหล่านี้ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม” พล.ท.เวินจุน กล่าวทั้งนี้เป็นรายงานในเว็บไซต์วิทยุเสียงอเมริกาภาคภาษาเขมร (VOA- Khmer)
      
       ต่อสถานการณ์ล่าสุดที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ทั้งสหรัฐฯ และจีน ต่างออกเรียกร้องให้สองฝ่ายใช้ความอดทนและอดกลั้นอย่างถึงที่สุด แก้ปัญหาด้วยสันติวิธี
      
       คำแถลงของฝ่ายจีนยังระบุด้วยว่า จีนยังคงเป็นมิตรที่ดีกับทั้งสองประเทศ
      
       ในวันจันทร์นี้หลายประเทศรวมทั้งสิงคโปร์ ออสเตรเลีย และองค์การสหประชาชาติ ได้ออกเรียกร้องให้กัมพูชาและไทยใช้ความอดทนและอดกลั้นสูงสุด และ เจรจาเพื่อแก้ความขัดแย้งอย่างสันติ
      
       ในนิวยอร์กนายบันคีมูนเลขาธิการสหประชาชาติออกคำแถลงแสดงความ “เป็นกังวลอย่างสุดซึ้ง” ต่อการเผชิญหน้ากันระหว่างไทยกับกัมพูชา
      
       “ท่านเลขาธิการใหญ่เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่าย ต้องหามาตรการที่มีประสิทธิผลในการยุติความเป็นอริต่อกันและใช้ความอดกลั้นสูงสุด” คำแถลงของสำนักงานของนายบันระบุ.



Made in USSR-- ภาพแฟ้ม 18 ต.ค.2551 หรือ 3 วันหลังการปะทะครั้งแรกที่ชายแดนภูมะเขือ ทหารกัมพูชานั่งบนยานลำเลียงพลหุ้มเกราะรุ่นเก่าที่ผลิตในสหภาพโซเวียตตั้งแต่ยุคสงครามเย็น ข้างบนติดตั้งปืนไร้แรงสะท้อน เข้าใจว่าที่นั่งข้างในคงจะเต็มหมดแล้ว กัมพูชาเพิ่งได้ยานลำเลียงพลหุ้มเกราะรุ่นใหม่จากยูเครนปลายปีที่แล้ว.-- REUTERS/Chor Sokunthea.





Made in Ukraine-- ภาพวันที่ 5 ก.พ.2554 มาคราวนี้นั่งรถ 8 ล้อ ทหารกัมพูชาบนยานลำเลียงพลหุ้มเกราะ BRT-60 ที่ซื้อจากสาธารณรัฐยูเครนปีที่แล้ว ซึ่งนำออกใช้แทนยานลำเลียงพลรุ่นเก่าที่มีอายุเกือบครึ่งศตวรรษ กัมพูชาได้ระดมทุกสรรพกำลังเข้าชายแดนไทยในครั้งนี้ ทุกอย่างต่างไปจากเมื่อครั้งปะทะกัน 3 ปีก่อน.--AFP PHOTO/STR


ขอบคุณ : http://www.manager.co.th/